02 September 2012

แกะรอยศิลาจารึกลาว"วัดวิชุน" เปิดพรมแดนวิชาการ ไทย-ลาว

มีการตีพิมพ์ข่าวการพบศิลาจารึกที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดหลักหนึ่ง รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม พบจากบทความคอลัมน์มรดกลาว ในนิตยสารท่องเที่ยวเมืองลาว ฉบับที่ 26 เดือนกรกฎาคม-กันยายน ค.ศ.2005 นิตยสารประจำสายการบินลาว ซึ่งบุนมี เทบสีเมือง ผู้เขียนบทความดังกล่าวว่า *ศิลาจารึกดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ.532 ตรงกับ ค.ศ.1713* จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ศิลาจารึกดังกล่าวสร้างขึ้นใน ร.ศ.532 จริงหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับศิลาจารึกหลักดังกล่าวเก่ากว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง 113 ปี เพื่อแสวงหาคำตอบดังกล่าว สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ และคณะนักวิชาการด้านโบราณคดีไทย ได้เดินทางไปเยือนหลวงพระบางเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ไปยังวัดวิชุน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของศิลาจารึกหลักดังกล่าว พร้อมกับร่วมพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันกับคณะกรรมการสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ และนักวิชาการลาว ทั้งนี้ วัดวิชุน หรือ วัดวิชุนนะลาด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองหลวงพระบาง ถนนวิชุนราช สร้างขึ้นเมื่อ จ.ศ.874 หรือ ค.ศ.1512 (พ.ศ.2055) โดยพระเจ้าวิชุนราช ซึ่งเป็นกษัตริย์แผ่นดินล้านช้างเมื่อ จ.ศ.863 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระบาง ซึ่งอาราธนามาจากเมืองเวียงคำ สิมหลังเก่านั้นสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบลาวเดิมสมัยอาณาจักรลาวล้านช้างยุคต้นคริสต์ศตวรรษ ที่ 14 มีขนาดยาว 36 เมตร กว้าง 18 เมตร ด้านตรงข้ามของสิมเป็น "พระธาตุหมากโม" ทรงโอคว่ำคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง พระนางพันตินะเชียงเบด พระอัครมเหสีของพระเจ้าวิชุนราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากสร้างวัดแล้ว 11 ปี ถือเป็นพระธาตุสำคัญองค์หนึ่งเช่นเดียวกับพระธาตุหลวงในเวียงจัน พระธาตุพนมในประเทศไทย พระธาตุชเวดากองในย่างกุ้ง พระธาตุพุทธคยาในอินเดีย ฯลฯ ค.ศ.1888 โจรฮ่อเข้ามารื้อทำลายเพื่อนำเอาของมีค่าที่ประดับอยู่บนยอดช่อฟ้าของสิมและ ยอดพระธาตุหมากโม ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณวัด หลังจากนั้น พระเจ้าสักรินทร์ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ โปรดฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามแบบเดิมในปี ค.ศ.1894 เมื่อแล้วเสร็จนักปราชญ์ลาวและฝรั่งเศสได้ตกลงกันให้รวบรวมเอาโบราณวัตถุและ ศิลาจารึกตามบริเวณวัดร้าง วัดเก่าแก่ทั้งหลายที่ไม่ได้รับการเก็บรักษาที่ดีมาเก็บไว้ที่สิมวัดวิชุน เพื่อป้องกันการถูกทำลายหรือสูญหาย ในรัชสมัยของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ยังมีการปฎิสังขรณ์อีกครั้ง ครั้งนี้พบโบราณวัตถุมากมาย เช่น เจดีย์ทองคำ พระพุทธรูปหล่อสำริด พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปที่แกะสลักจากแก้ว เช่นเดียวกับพระแก้วมรกต ฯลฯ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพระราชวังหลวงพระบาง หรือพิพิธภัณฑ์เจ้ามหาชีวิต ทุกวันนี้วัดวิชุนเป็นอีกวัดหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเยี่ยมชม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด นอกเหนือจากวัดเชียงทอง สัญลักษณ์ของเมืองหลวงพระบาง โดยเสียค่าตั๋วคนละ 10,000 กีบ หรือประมาณ 40 บาท ด้านหน้าสิมจึงมีของที่ระลึกไว้จำหน่าย เช่น โปสการ์ด ตุ๊กตาปู่เยอย่าเยอ ฯลฯ ภายในสิมวัดวิชุนมีศิลาจารึกประดิษฐานอยู่ทั้งหมด 6 หลัก เป็นจารึกอักษรลาว 4 หลัก อักษรธรรม 2 หลัก ทั้งหมดตั้งอยู่บนแท่นไม้เรียงกันเป็นแถวทางด้านซ้ายของพระประธาน บุนมี นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีลาว เจ้าของบทความชิ้นดังกล่าว เล่าถึงที่มาของการพบศิลาจารึกหลักนี้ว่า เมื่อสงกรานต์ ค.ศ.2001 ได้มาเยี่ยมลูกสาวและลูกเขยซึ่งอยู่ที่บ้านวิชุน เมื่อมีโอกาสจึงเข้าวัดทำบุญ และได้พบศิลาจารึกดังกล่าว "ปีแรกที่มาได้ถ่ายรูปกลับไปศึกษา เพราะอ่านไม่ออก ผมเข้าห้องสมุดไปค้นคว้า ปี 2002 มาใหม่แล้วเขียนรายงานให้กรมพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณทราบ ตอนหลังผมมาศึกษาอีก แต่ไม่แน่ใจเรื่องตัวเลข เพราะอย่างเลข 2 ของลาว หางจะชี้ขึ้น แต่ในศิลาจารึกหางชี้ลง จนได้มาเห็นจารึกไทยสมัยอยุธยา เลข 2 หางเป็นแบบนี้จึงสรุปได้" บุนมีเล่าต่อไปว่า จารึกหลักนี้พบที่ไหนไม่มีใครทราบ เพราะเมื่อครั้งที่ขอมเข้ามาตีได้เผาทำลายหมด ภายหลังเมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดนี้แล้ว ฝรั่งเศสได้ให้รวบรวมศิลาจารึกจากวัดต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ที่วัดนี้ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยอยู่ที่นี่มา 60 ปี ก็ว่าตั้งแต่มาอยู่ก็เห็นศิลาจารึกนี้แล้ว *ปัจจุบันแม้ว่ากรมพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณ ซึ่งเทียบเท่ากับกรมศิลปากรของไทยได้มาศึกษาศิลาจารึกหลักนี้ และขึ้นทะเบียนไว้แล้ว เพื่อไม่ให้หาย แต่ไม่เกี่ยวกับการอ่าน เพราะอ่านก็ไม่เข้าใจ จึงไม่ค่อยมีคนสนใจ* นอกเหนือจากความเป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรบอกเล่าเศษเสี้ยวหนึ่งของ ประวัติศาสตร์ลาวแล้ว ศิลาจารึกหลักดังกล่าวยังช่วยจุดประกายให้นักวิชาการทั้งไทยและลาวได้หัน หน้าเข้ามาศึกษา แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน บุนมี ซึ่งสนใจค้นคว้าเอกสารที่ว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนแถบนี้ ไม่ว่าจะจากใบลาน จากศิลาจารึก หรือหนังสือตามห้องสมุดในต่างประเทศ เช่น ที่ฮานอย ซึ่งมีห้องสมุดใหญ่ถึง 2 แห่ง สำหรับเก็บเอกสารโบราณๆ ไว้มากมาย เล่าว่า "การอ่านประวัติศาสตร์ต้องนึกถึงศูนย์กลางของเรื่องว่าคืออะไร ต้องเล็งจุดนั้น ผมเองบางทีอ่านแล้วก็ปวดหัวเหมือนกัน แต่เฮาก็ต้องดูว่าได้ความรู้อะไรจากมันในแง่ประวัติศาสตร์ หรือศิลปะ โบราณคดี อย่าแต่คิดว่าเรื่องของเทวดาเอาน้ำเต้าปุงมาให้ นี่ไม่มีหรอก เพราะนี่เป็นกุศโลบายเอาเทพนิยายมาเขียนเพื่อให้มีความศักดิ์สิทธิ์" ตำนานเรื่องขุนบรม ซึ่งฝ่ายลาวเชื่อว่าเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าวิชุนราชจึงมีขึ้น เป็นกุศโลบายเพื่อให้เกิดความสามัคคีในสมัยนั้นซึ่งเป็นช่วงปลดปล่อยทาส บุนมีเล่าต่อไปว่า ในลาวมีนักวิชาการที่สนใจศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เหล่านี้มากเหมือนกัน เพียงแต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคม ใครไปศึกษาเอกสารที่ไหนกลับมาจะมีการบันทึกไว้ ทำให้ผู้อื่นได้รับความรู้นั้นไปด้วย และใช้ในการต่อยอด ตีความเพื่อความเข้าใจต่อไป "เอกสารของฝรั่งเศสที่ได้จากหอสมุดในเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม บันทึกไว้ตามคำบอกเล่าของพ่อค้าจีนว่า ได้มาค้าขายที่อาณาจักรฟูเลียว (ฟู คือ เมือง, เลียว คือ ลาว) หรือเมืองวันตัน คือเวียงจัน เมื่อ ค.ศ.705-706 ได้บรรยายว่า อาณาจักรฟูเลียวกว้างใหญ่ ทิศเหนือติดหนองแส ทิศใต้ติดฟูนัน ศิลาจารึกบางหลักว่า ค.ศ.431 เวลานั้นอาณาจักรฟูเลียวมีอักษรใช้แล้ว จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 มีศิลาจารึกเป็นอักษรลาว อาณาจักรศรีโคตรบูรครองความเป็นอาณาจักรมายาวนานจนถึงศตวรรษที่ 17 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บุกรุกเข้ามาจึงเสียเอกราช จึงมั่นใจว่าพวกเฮาเป็นเจ้าของที่นี่ บ่ได้มาจากทางเหนือ" บุนมี กล่าวอย่างหนักแน่น "ผมตั้งข้อสังเกตว่าคนทางเหนือที่มา อย่าง พวกไทดำ ไทแดง ผู้ไท เชียงใหม่ มาจากอาณาจักรไทย-ลาว การออกเสียงแตกต่างกัน อย่าง ตัว พ เพิ่นว่า ป เฮาว่า "พ่อแม่" เพิ่นว่า "ป้อแม่" เฮาว่า "สิบสองพันนา" เพิ่นว่า "สิบสองปันนา" ภาษามันแตกต่างกัน ลาวอีสาน ลาวภาคกลางหรือเวียงจันพูดเหมือนกัน ล้านช้างก็พูดเหมือนกัน เรียกพ่อเรียกแม่เหมือนกัน ประเพณีการฝังศพก็เหมือนกัน" ขณะที่ รศ.ศรีศักร นักวิชาการมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ให้ความเห็นว่า การเดินทางมาวัดวิชุนครั้งนี้ไม่ได้สนใจว่าศิลาจารึกลาวจะเป็นของเก่าหรือ ของใหม่ แต่ข้อความข้างในนั้นให้ความหมายมากกว่าเพราะบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือ การศึกษาศิลาจารึกนี้เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ของลาวโดยลาวเอง ไม่ได้เดินตามฝรั่ง ส่วนเรื่องจุลศักราชจริงหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกต้องมาคุยกัน อีกประการคือ เราไม่ทราบที่มาของศิลาจารึก ต้องสำรวจรอบๆ หลวงพระบางว่ามีแหล่งโบราณสถานใดที่มีอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 คือประมาณ 1,700 ปีก่อน "ไทย-ลาว เป็นตระกูลภาษาเดียวกันในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นมอญ เขมร หรือตะเลง ปรากฏในภูมิภาคที่เป็นสุวรรณภูมิ ต่างก็สร้างบ้านแปงเมืองมาด้วยกัน ท่านบุนมีมองว่า กลุ่มที่อยู่ตรงกลางแต่เดิมคือ มอญ-เขมร กลุ่มที่เคลื่อนเข้ามาคือ ไทย-ลาว ลาว-ไทย เข้ามาและมาพบหลักฐานอันหนึ่งคือ "อาณาจักรศรีโคตรบูร" ถัดออกไปเป็นกลุ่ม "ฟูนัน" ที่อยู่ริมทะเล และถัดมาเป็นเขมร ความเห็นตรงกันที่ว่ากลุ่มไทย-ลาว ลาว-ไทยเข้ามาทางอีสาน มาตั้งเป็นอาณาจักรที่เรียกว่า "ศรีโคตรบูร ตำนานอุรังคธาตุก็สร้างขึ้นในยุคนี้ "พุทธศาสนาของหลวงพระบางไม่ได้มาจากสุโขทัยหรือล้านนา แต่มาจากศรีโคตรบูรเก่า ซึ่งอาจจะเป็นคนไทย-ลาวที่เข้ามาเมื่อแรกๆ คนเหล่านี้นับถือพุทธศาสนา ซึ่งหลักฐานของพุทธศาสนาที่สำคัญก็ยังอยู่ที่เวียงจันทน์ คือพระพุทธรูปหินสลักที่วังช้าง เป็นปางเทศนา ซึ่งเราไม่พบที่ประเทศไทย และเห็นได้ชัดว่าเป็นฝีมือคนพื้นเมือง เป็นการยืนยันถึงความเป็นพุทธเถรวาท และเก่ากว่าเขมร ส่วนหลวงพระบางเป็นเขตเศรษฐกิจทางชายแดนของเวียงจันทน์ ความเจริญของหลวงพระบางมาจากเวียงจันทน์ สมัยพระเจ้าวิชุนราชสำคัญมาก พบศิลปะคล้ายอู่ทอง และพระพุทธรูปที่พบที่วัดวิชุนก็เป็นแบบศรีโคตรบูรทั้งสิ้น มีหลายสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจแล้วจะพบว่าการเคลื่อนเข้ามาของชาวไทย-ลาวใน ดินแดนเขตนี้มาเมื่อไร" ศิลาจารึกไทย หรือศิลาจารึกลาว ของใครจะเก่ากว่ากันนั้นไม่ใช่ประเด็น เพราะจะประเทศไทยหรือประเทศลาวก็คือกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน การเดินทางไปเยี่ยมยามวัดวิชุน ที่หลวงพระบางครั้งนี้ จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดีของการเปิดประตูพรมแดนทางการศึกษาด้านประวัติ ศาสตร์โบราณคดีของสองประเทศ

ອ້າງອິງມາຈາກ 

No comments:

Post a Comment