06 June 2008

การกำเนิดขึ้นของชาติลาว


ภาคที่ ๑
การกำเนิดขึ้นของชาติลาว

ต้นกำเนิด (รากเหง้า) ของชาติลาว และอาณาจักรเดิมของลาว

ชาติ ลาวเราเป็นชาติหนึ่งที่เก่าแก่ ได้ถือกำเนิดขึ้นร่วมกับชาติอื่นๆ ในทวีปเอเชีย เช่น มองโกล จีน อินเดีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา และไทย เป็นต้น ได้ขยายตัวไปตามการเคลื่อนไหวของธรรมชาติและการเคลื่อนย้ายของมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่างๆ บางยุคสมัยก็ได้รวมเข้ากัน บางยุคสมัยก็แยกออกจากกันเป็นหลายชนเผ่า ด้วยการแย่งชิงอำนาจ แผ่ขยายอาณาเขต เพื่อการคงตัวและขยายตัวของสังคมมนุษย์นั้นเอง

ในยุคสมัยดึกดำบรรพ์ ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการอันยาวนาน จากการออกแรงงานของฝูงลิง ค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมาเป็นการเดินสองขา ฝูงลิงดังกล่าวได้ปรากฏขึ้นบนโลกนี้อยู่หลายแห่ง ตาม ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าเห็นปรากฏอยู่ในเขตภูเขาอัลไต (ในเขตมองโกเลีย) เมื่อมาถึงยุคหิน มนุษย์ใช้หินเป็นเครื่องมือในการผลิต ก็ได้เคลื่อยย้ายออกไปทำมาหากิน ในกลุ่มมนุษย์ที่ได้เกิดขึ้นในแถบภูเขาอัลไตนั้นได้แตกออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเคลื่อนย้ายขึ้นไปทางเหนือ กลายเป็นชาติมองโกล กลุ่มที่สองเคลื่อนย้ายไปทางทิศตะวันออก ได้กลายเป็นชาติจีนมาจนเท่าทุกวันนี้ ต่อมาแยกออกเป็นหลายชาติ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ส่วนกลุ่มที่สามได้เคลื่อนย้ายอพยพลงมาทางทิศใต้ กลายเป็นคนลาว พม่า เวียดนาม ไทย และยังคงตกค้างอยู่ในประเทศจีนอีกจำนวนหนึ่ง

ตามตำนานและเอกสารต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ เผ่าคนลาวได้เคลื่อนย้ายลงมาตามทิศแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำแยงซีเกียง พร้อมทั้งตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อทำมาหากิน และพัฒนาขึ้นเป็นตัวเมืองต่างๆ ตามลุ่มแม่น้ำเพื่อความสะดวกในการคมนาคม เมืองที่เป็นที่รู้จักมากกว่าเมืองอื่น คือ เมืองลุง เมืองปา และเมืองเงี้ยว

ในยุคสมัยนั้น พวกจีนเรียกเราว่า มุง ประเทศจีนได้สร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับลาวเราที่นครปา นครลุง และนครเงี้ยว ต่อจากนั้นก็ได้เคลื่อนย้ายลงมาทางทิศใต้เรื่อยมา และได้สร้างเมืองขึ้นอีกหลายเมือง มีเมืองใหญ่ คือ เมืองเสฉวน เมืองเพงาย คนจีนเคยเรียกคนลาวเราว่า ไต ไท้ ไท ลื้อ ลัวะ ละว้า ชื่อดังกล่าวแตกต่างกันไปตามสำเนียงของเผ่าจีนที่เคยอยู่ใกล้เคียงกับลาว

การตั้งถิ่นฐานของคนลาว ได้กลายเป็นอาณาเขตที่กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ และได้รวมกันเข้าเป็นกำลังที่เข้มแข็ง มีการปกครองที่มั่นคง เผ่าลาวได้แต่งตั้งผู้ปกครองของตนขึ้น เพื่อบริหารบ้านเมือง ผู้ปกครองคนแรกมีชื่อว่า ขุนเมือง (ขุนเม็ง) จากนั้นเป็น ขุนวังเมือง ขุนวังหลวงลี่เมา และขุนไจลาว ผู้ปกครองเหล่านั้นได้ปกครองนครเพงายซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของกลุ่มคนลาว การสร้างถิ่นฐานของคนลาวอยู่นครปา นครลุง นครเสฉวน และนครเพงายได้คงตัวมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดมีศึกสงครามอย่างต่อเนื่อง การรบระหว่างเผ่ามองโกลกับเผ่าจีน และการรบระหว่างเผ่าจีนด้วยกันเอง ได้ส่งผลกระทบมาถึงเผ่าลาว ชาติลาวเราจึงต้องสูญเสียดินแดนของตนให้แก่จีนแล้วอพยพลงมาทางทิศใต้ และได้สร้างเมืองขึ้นในช่วง ค.ศ. ๗๙ คนจีนเคยเรียกคนลาวหนองแสในเวลานั้นว่า ตาลีฟู ปัจจุบันได้กลายมาเป็นเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน นอก จากนครหนองแสแล้ว คนลาวเรายังได้สร้างเมืองขึ้นอีกหลายเมืองในเขตดังกล่าว เช่น เมืองมุ่งซุย เมืองเอี้ยแซ เมืองล่างกง เมืองเท่งเซี้ยง เมืองซีล่ง และเมืองม่งเส อาณาจักรหนองแสได้คงตัวและขยายตัวมา เป็นเวลาหลายร้อยปี มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง กลายมาเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาติลาวเรามาจนเท่าทุกวันนี้ เช่น การเลี้ยงไหม ทอผ้า บายสี (สู่ขวัญ) การกราบไหว้ การสู่ขอ (แต่งงาน) และอื่นๆ

อาณาจักรหนองแสในเวลานั้นเจริญรุ่งเรือง มีอาณาเขตกว้างขวาง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และทั้งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ด้วยเหตุนั้นพวกศักดินาของจีนจึงหมายตาและทำศึกสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวอยู่เป็นประจำ แต่ด้วยการต่อสู้ของเผ่าลาวอันเก่งกล้า สามารถปกป้องอาณาเขตของตนไว้ได้หลายครั้ง ครั้งสำคัญนั้นคือสมัยของพระเจ้าแผ่นดินจีนนามว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้สร้างกำแพงเมืองจีน ได้ยกทัพเข้าตีอาณาจักรหนองแส กระทั่งลาวหนองแสตกเป็นเมืองขึ้นของจีนในระยะหนึ่ง

จากนั้นมาเป็นเวลาที่ประเทศจีนแตกออกเป็นสามก๊ก คือ โจโฉ เล่าปี่ และซุนกวน พวกเขาได้ต่อสู้ขับเขี้ยวกันอย่างดุเดือด อาณาจักรลาวหนองแสได้โอกาสก็ประกาศแยกตัวออกจากพวกจีน แล้วปรับปรุงตัวขึ้นอย่างเข้มแข็ง

มาถึง ค.ศ. ๒๒๕ พวกเล่าปี่ยกทัพลงมาตีหนองแส บัญชาการโดยแม่ทัพขงเบ้ง ผู้เชี่ยวชาญการศึกสงคราม ประชาชนชาวหนองแสทำการต่อสู้อย่างดุเดือดเพื่อรักษาอาณาเขตของตน แต่ผลสุดท้ายก็ถูกพวกจีนยึดได้ ด้วยเหตุนี้ชาวลาวจึงอพยพลงมาทางทิศใต้เป็นส่วนใหญ่ พวกที่ยังเหลือก็กลายมาเป็นชนชาติจีนจนเท่าทุกวันนี้

ผู้ปกครองคนลาวในอาณาจักรหนองแส ที่ปรากฏในตำนาน หนังสือโบราณ และพงศาวดารต่างๆ คือ เจ้าสีนุโล เป็นผู้ปกครองคนแรก จากนั้นมาหลายร้อยปีจึงปรากฏชื่อ เจ้าสีหะนะละ ขึ้นปกครอง เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ก็มีลูกหลานเชื้อพระวงศ์ขึ้นปกครองแทนถึงสามพระองค์ จึงมาถึงรัชสมัยขุนบูลม (ขุนบรม) ราชาธิราช

No comments:

Post a Comment