เดิมเป็นชื่อเมืองโบราณ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๗๘ เป็นต้นมา ปัจจุบันคือที่ตั้งอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่า เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเวียงจันทน์ฝั่งขวาด้านทิศตะวันตก ถ้าพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นแนวกำแพงและคูเมืองเดิมเป็นแนวเดียวกัน มีแม่น้ำโขงผ่ากลางแต่ซากโบราณสถานที่สำคัญอยู่ที่ บก.นปข.เขตหนองคายประมาณ ๑๕ ไร่เศษ ซึ่งเดิมเป็นค่ายพานพร้าวของรัชกาลที่ ๑ ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาจักรีสมุหนายกมหาดไทย เมื่อครั้งยกทัพยึดเวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๒๑ เจ้าพระยาจักรีได้นำกองทัพมาตั้งมั่นบริเวณนี้ และข้ามไปตีเมืองเวียงจันทน์สำเร็จโดยเจ้าสิริบุญสานทิ้งเมืองหนี พระยาจักรีได้นำพระแก้วมรกตและพระบางกลับมาค่ายนี้ (วัดพระแก้วบริเวณ นปข.) และได้นางพระกำนัลชื่อ "นางแว่น หรือนางคำแว่น"เป็นอนุภรรยาด้วย ต่อมาคือ"เจ้าจอมแว่นหรือคุณเสือ" พระสนมเอกแต่ไม่มีราชสกุล การปราบเวียงจันทน์ครั้งนี้เป็นเกียรติยศ ทำให้ล้านช้างเป็นเมืองประเทศราช ชาวเวียงจันทน์และศรีเชียงใหม่ จึงเรียกกุลสตีในอุดมคติว่า "นางเขียวค้อม" และเจ้าจอมแว่นผู้นี้ทำให้กองทัพไทยไม่ทำลายเมืองเวียงจันทน์ จึงเรียกศึกในครั้งนั้นว่า "ศึกนางเขียวค้อม" พ.ศ.๒๓๒๑ โดยมีวัดนางเขียวค้อม อยู่ใต้ บก.นปข. (นางเขียวค้อมในอุดมคติล้านช้างมีหลายคน เล่ากันว่ารัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชปรีชาญาณ สร้างธาตุ (เจดีย์) ปิดรูพญานาคไว้ทำให้ออกมาช่วยเหลือเวียงจันทน์ไม่ได้จึงพ่นพิษจนเจดีย์นั้นดำไปหมดและเรียก "พระธาตุดำ" (ปัจจุบันอยู่ฝั่งประเทศลาว) สืบมาหลังจากรัชกาลที่ ๑ ปราบดาภิเษก พ.ศ. ๒๓๒๕ บริเวณนี้คงอุทิศให้เป็นวัด มิได้เป็นค่าย
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๑ พระเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏ แต่ประวัติศาสตร์ของลาวบอกว่าพระองค์ประกาศกอบกู้เอกราชโดยจะไม่เป็นเมืองขึ้นของสยามประเทศต่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้น รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เป็นแม่ทัพหลวง พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้า ยกไปปราบกบฏตีเมืองเวียงจันทน์เป็นผลสำเสร็จ แต่ตามจับเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้เพราะพระองค์พาครอบครัวอพยพหลบหนีไปพึ่งญวนที่เมืองพูซุนหรือเมืองเว้
ตามประวัติศาสตร์ลาวบันทึกตอนนี้ว่า "เมื่อเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ (1827) เจ้าอนุวงศ์ไม่อยากมีศึกอยู่กลางเมืองเวียงจันทน์ เพราะกลัวว่าตัวเมืองจะถูกเผาทำลาย จึงต้องอพยพไปพึ่งญวนเพื่อเตรียมการรบครั้งใหม่ ก่อนจะออกจากเวียงจันทน์เจ้าอนุวงศ์ได้สั่ง ซุกซ่อน ช้างม้า อาวุธ พระพุทธรูปทองคำ และสิ่งของสำคัญต่างๆ เท่าที่จะทำได้ พระองค์หนีไปได้สองวัน กองทัพสยามกองหน้าจึงเข้าเมืองเวียงจันทน์ได้
สมเด็จพระบวรเจ้าฯ ทรงเห็นว่าใกล้ฤดูฝนจะตามจับตัวเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้ จึงกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓ ขอยกทัพกลับกรุงเทพฯ ในพระราชสาสน์ว่า "พระบางหายไปสืบหายังไม่ได้ ได้แต่พระเสริม พระใส พระแทรกคำ พระแก่นจันทน์ พระสรงน้ำ พระเงินหล่อพระเงินบุ รวม ๙ องค์ แต่จะเอาลงไปกรุงเทพได้แต่พระแทรกคำองศ์หนึ่ง และพระพุทธรูปที่ส่งลงไปกรุงเทพมิได้นั้น จะได้ก่อพระเจดีย์ ณ ค่ายหลวงเมืองพันพร้าวเหนือวัด ฐานกว้าง ๕ วา สูง ๘ วา ๒ ศอก จะบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นที่สักการบูชา(พระพุทธรูปที่เหลือ ๘ องค์) เกณฑ์อิฐไพร่พลในกองทัพเสมอคนละ ๒ แผ่น แล้วจารึกนามว่า พระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์"
ประวัติศาสตร์ลาวบันทึกตอนนี้ว่า เมื่อทหารสยามเข้ามาเวียงจันทน์ก็เที่ยวซอกค้นเอาสิ่งของที่มีค่าต่างๆ เช่น พระใส พระสุก พระแซกคำ พระแก่นจันทน์ พระสรงน้ำ พระเงินหล่อ พระเงินบุ พระเจ้าสันส้มมอ พระนากสะหวาด พระนากปกศิลา และให้ก่อเจดีย์ปราบเวียงจันทน์ไว้อยู่ค่ายหลวงบ้านพันพ้าว (เหนือวัด) แล้วจารึกว่า "เจดีย์ปราบเวียงและความชั่วร้ายของอ้ายอนุ" ไว้บนแผ่นศิลา
ครั้งถึงปีชวดเดือน ๗ พ.ศ.๒๓๗๑ โปรดเกล้าให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์เป็นครั้งที่สอง เจ้าพระยาราชสุภาวดีนำทัพเข้าตั้งมั่นที่หนองบัวลำภู แล้วแต่งตั้งให้พระยาราชรองเมือง พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต คุมทหาร ๑,๐๐๐ คน มาตั้งมั่นที่ค่ายพันพร้าว (ปัจจุบัน ตำบลพันพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) พระยาราชรองเมืองแต่งตั้งให้พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต พร้อมทหารสามร้อยกว่าคน ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งทัพที่วัดกลาง ควบคุมเวียงจันทน์เอาไว้ ฝ่ายทหารญวนที่ควบคุมเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวมาถึงเวียงจันทร์ แล้วบอกทหารไทยที่เป็นทัพหน้าว่า "มินมางหว่างเด๊ จักรพรรดิแห่งญวนมีพระราชสาสน์ มาขออภัยโทษจากรัชกาลที่สามให้แก่เจ้าอนุวงศ์แล้ว พระราชสาสน์ส่งมาทางเรือสำเภาและรัชกาลที่สามพระราชทานอภัยโทษให้แล้ว" แม่ทัพหน้าของไทยต่างก็หลงเชื่อจึงให้เจ้าอนุวงศ์และทหารญวนพักที่หอคำ
เมื่อวันแรม ๗ ค่ำเดือน ๘ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๓๗๑ เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น -๑๖.๐๐ น ทหารเวียงจันทน์ก็บุกตีกองทัพพระยาพิไชยสงคราม ที่ตั้งอยูชายฝั่งโขงด้านเวียงจันทน์ การรบเป็นไปอย่างดุเดือดจนถึงขั้นตะลุมบอน ครั้งนั้นพระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฏร์ หลวงสุเรนทรวิชิต พร้อมทหาร ๓๐๐ กว่าคนถูกฆ่าตายเกือบหมด เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพหลวงไทยยกทัพจากหนองบัวลำภูมาถึงพอดี มองข้ามโขงเห็นการรบตลอดเวลาจะยกพลข้ามโขงไปช่วยก็ไม่มีเรือ และทหารส่วนมากก็หลบหนีไปหมด ที่เหลือก็มีจำนวนน้อย จนค่ำหลวงรักษานาเวศกับพวก ๔๐-๕๐ คน ลอยเกาะขอนไม้ข้ามมาได้แค่นั้นเอง พระยาราชสุภาวดี เห็นกองกำลังเวียงจันทน์ยกข้ามโขงมา จึงถอยทัพออกจากค่ายพันพร้าวมุ่งหน้าไปเมืองยโสธร ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เข้ายึดค่ายพันพร้าวแล้วเข้ารื้อ พระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์นำพระพุทธรูปกลับไปเวียงจันทน์ด้วย
ประวัติศาสตร์ลาวบันทึกตอนนี้ว่า ในเดือน ๘ แรม ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมง เจ้าอนุก็นำทหารเข้าล้อมค่ายทหารสยามที่ตั้งอยู่วัดกลาง ซึ่งเวลาเดียวกันนั้นกองทัพของพระยาราชสุภาวดี ก็ยกมาถึงบ้านพันพร้าว ทหารลาวได้ฆ่าทหารสยามตายหมดแม่ทัพทั้งสามคนตายในสนามรบ คือ พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ส่วนทหารจำนวนหนึ่งที่ออกนอกค่ายไม่กล้าเข้ามาช่วยกัน ได้พากันแล่นลงของ (พากันวิ่งลงแม่น้ำโขง) เพื่อข้ามฝาก แต่ก็ถูกทหารลาวพายเรือไล่ฟันตายลงน้ำ รวมทหารสยามตาย ๔๐๐ คน ที่เหลือ ๔๕ คน ไปแจ้งต่อพระยาราชสุภาวดี พระยาราชสภาวดีได้เห็นทหารลาวไล่ฟันแทงทหารสยามกลางหาดกลางน้ำด้วยตาตนเอง จึงกลัวตายโดยเฉพาะทหารเมืองโคราชและหัวเมืองลาวอื่นๆ ที่ถูกเกณฑ์มา พากันแตกหนีหมด ในตอนแลงมื้อนั้นเจ้าราชวงศ์ได้ตัดหัวแม่ทัพสยามทั้งสามคน ที่ตายในสนามรบนั้น ไปเสียบไว้หาดทรายแคมของ (เสียบไว้ตรงหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำโขง) แล้วตามจับทหารสยามที่ยังหลี้(ที่ยังหลบซ่อนอยู่) ตามที่ต่างๆ มาจนหมด รวมทหารสยามตายทั้งหมด ๖๐๐ คนเศษ แล้วเจ้าราชวงศ์สั่งให้เพยมนีและท้าวมหาชัย คุมพล ๓๐๐ คนข้ามไปที่บ้านพันพ้าวให้รื้อเจดีย์ปราบเวียงจันทร์ "เกลี้ยงแต่ยอดฮอดก้าน" (รื้อ ตั้งแต่ยอดเจดีย์จรดฐาน) แล้วนำเอาพระพุทธรูปที่พวกสยามลัก(ขโมย)เอากลับมาเวียง คือ พระเสริม พระแสง พระสุก พระใส ๔ องค์
ข้อมูลจาก -ประวัติศาสตร์ลาว(ดึกดำบรรพ์-ปัจจุบัน)กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมเวียงจันทน์ 2000
-หนังสือหนองคาย ISBN 974-89559-1-5 สิทธิพร ณ นครพนม
No comments:
Post a Comment