ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ[1] เป็นงานชิ้นสุดท้ายของ จิตร ภูมิศักดิ์ งานค้นคว้านี้สันนิษฐานที่มาของคำต่างๆ โดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของลักษณะเชื้อชาติ ลักษณะทางสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในแถบสุวรรณภูมิ ที่ปรากฏขึ้นในรูปภาษา ถือเป็นงานทางนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์สังคมที่มีความโดดเด่นอย่างมาก
งานค้นคว้าที่ยังเขียนไม่เสร็จนี้ จิตรใช้เวลาเขียนอยู่ประมาณ 7 ปี ในขณะที่ถูกจองจำอยู่ในคุกลาดยาว ช่วง พ.ศ. 2501-2507[2] เขาได้มอบต้นฉบับให้แก่ สุภา ศิริมานนท์ รักษาต้นฉบับไว้โดยใส่กล่องฝังดินไว้ในสวนฝั่งธนบุรี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จึงมีการขุดค้นขึ้นมาตีพิมพ์ โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์ครั้งแรก 5,000 เล่ม ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ไม่นานนัก มีหนังสือตกถึงมือผู้อ่านไม่มากนักเพราะส่วนใหญ่ถูกเผาทิ้งทำลายในสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี
หนังสือนี้แบ่งเป็นสามภาค คือ พื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์, ชื่อชนชาติและฐานะทางสังคม, และ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ภาคที่หนึ่งและสองนี้ ต้นฉบับถูกเก็บรักษาไว้ด้วยกัน ส่วนภาคที่สามเป็นส่วนที่พบภายหลังและได้เพิ่มเข้ามาในการจัดพิมพ์ครั้งที่สามเมื่อ พ.ศ. 2535
ความเป็นมาของคำสยามฯ ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ในโครงการวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุน
จิตรสรุปว่า "ไทย" เป็นคำที่คนไทยเรียกตัวเอง ส่วน "สยาม" เป็นคำที่ชนชาติอื่นเรียกคนไทย จิตรทำการค้นคว้าหาที่มาของคำทั้งสองโดยปราศจากอคติชาตินิยมที่ว่าคำทั้งสองต้องมีความหมายในทางที่ดีหรือเป็นมงคลและมาจากภาษาที่สูงส่งอย่างบาลีสันสกฤตเท่านั้น
จิตรมีความเห็นเกี่ยวกับคำว่าสยามดังนี้ "ต้องแปลว่า ลุ่มน้ำ หรือเกี่ยวกับ น้ำ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพชีวิตของสังคมชมรมกสิกรรมในที่ราบลุ่มของคนชาวไต" โดยมีที่มาจากภาษาหนานเจ้าตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารราชวงศ์หยวน
ส่วนคำว่าไทย จิตรเชื่อว่ามีวิวัฒนาการและความหมายมาเป็นลำดับ เกิดจากการปฏิเสธการดูหมิ่นของชนชาติอื่นที่ว่าคนไทยเป็นคนบ้านป่าเมืองเถื่อน โดยเริ่มแรก "ไท" มีความหมายว่า คนสังคม หรือ คนเมือง ต่อมาเป็นวรรณะหรือฐานันดรทางสังคม ซึ่งแปลว่าเสรีชน และภายใต้ความคิดรัฐชาติในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงเกิดความหมายในยุคใหม่ที่แปลว่า อิสระ เอกราช และผู้เป็นใหญ่
No comments:
Post a Comment